แนวโน้มเด่นของสัปดาห์นี้ :
1) ดอลล่าร์สหรัฐฯ อ่อนค่า
สกุลเงิน USD อ่อนค่าลง เพราะผลกระทบจากเหตุไวรัส COVID-19 แพร่ระบาด ซึ่งทำให้นักลงทุนคาดว่า Fed อาจปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ในการประชุมที่จะมีขึ้นในเดือน เม.ย.63 หรืออาจรวมไปถึงการประชุมอีก 2 ครั้งในช่วงปลายปีนี้ด้วย ถ้าหากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัวต่อไป
2) ไวรัส COVID-19 แพร่ระบาดรุนแรงต่อเนื่อง
แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในจีนจะลดลง แต่กลับมีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างมากขึ้นนอกประเทศจีน และได้ลุกลามไปทั่วถึงทุกทวีป โดยเฉพาะยุโรปที่มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในอิตาลีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับอังกฤษและสหรัฐฯ ที่มีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจต้องใช้มาตรการปิดพรมแดนเพื่อสกัดการแพร่ระบาด
3) ความตึงเครียดกรณี Brexit ระหว่างอังกฤษกับสหภาพยุโรป
ข้อมูลเอกสารจากฝ่ายอังกฤษที่เปิดเผยว่า ต้องการให้กระบวนการจัดทำร่างข้อตกลงการค้าเสรีกับ EU แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.-ก.ย.63 มิเช่นนั้นก็พร้อมจะออกจาก EU แบบไร้ข้อตกลงก่อนสิ้นสุดกำหนดช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านใน 31 ธ.ค.63 ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในอนาคต
ประเด็นที่ต้องติดตามในสัปดาห์หน้า :
1) ตัวเลขเศรษฐกิจภาคการผลิตในจีนและสหรัฐฯ
ตลาดให้ความสนใจสถานการณ์ในภาคอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลโดยตรงต่อการประเมินความเสี่ยงของการลงทุน ดังนั้น หากตัวเลขออกมาต่ำกว่าความคาดหวัง ก็อาจทำให้การฟื้นตัวเมื่อไม่นานมานี้ทรุดลงอีกครั้ง หลังจากที่เพิ่งกลับมากระเตื้องขึ้นหลังการลงนามข้อตกลงการค้าเฟสแรกระหว่างสหรัฐฯ-จีน
2) ประกาศอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA)
ในสัปดาห์หน้า RBA มีกำหนดประชุมเพื่อปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันได้รับผลกระทบจากเหตุไฟป่าและการระบาดของไวรัส COVID-19 โดยธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่คาดว่า RBA จะลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25%
3) ประกาศอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางแคนาดา (BOC)
ความคิดเห็นต่อการปรับอัตราดอกเบี้ยของแคนาดา ยังคงมีคาดการณ์ที่แตกต่างกันหลายทาง โดยในการประชุมครั้งที่ผ่านมา BOC ยืนยันว่ายังไม่มีแผนปรับลดอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด ท่าทีดังกล่าวจึงส่งผลให้นักลงทุนยังคงเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเผชิญความผันผวนที่สูงขึ้น แต่ BOC มีแนวโน้มที่จะยังไม่ตัดสินใจและรอดูสถานการณ์ไปก่อน เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน
4) ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ (NFPs)
ในสัปดาห์หน้าจะมีการรายงานตัวเลข NFP ซึ่งจะสะท้อนว่าภาวะเศรษฐกิจภาคแรงงานของสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID-19 มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ หากตัวเลขออกมาต่ำกว่าความคาดหวัง ก็จะเป็นปัจจัยกดดันต่อค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ
5) การประชุมของกลุ่ม OPEC
ตลาดคาดการณ์ว่าการประชุมในเดือน มี.ค. ของกลุ่ม OPEC น่าจะมีประกาศมาตรการใหม่ๆ ออกมาเพิ่มเติม หลังจากที่ได้ตัดสินใจลดกำลังผลิตลง 5 แสนบาร์เรล/วัน ในการประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อ ธ.ค.62 ทั้งนี้ เนื่องจากไวรัส COVID-19 เป็นปัจจัยกดดันให้ราคาน้ำมันต่ำลง นักลงทุนจึงเชื่อว่ากลุ่ม OPEC จะลดกำลังการผลิตอีก