แนวโน้มเด่นของสัปดาห์นี้ :
1) Fed ออกมาตรการเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติม
Fed ออกมาตรการเพิ่มวงเงินกู้ให้ภาคธุรกิจเป็นจำนวน 2.3 ล้านล้านดอลล่าร์ฯ ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายฉุกเฉินเพื่อรับมือสถานการณ์ไวรัส ซึ่งได้รับอนุมัติจากสภาคองเกรสเมื่อเดือนที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นไปยังกลุ่มธุรกิจ SME รวมถึงรัฐบาลท้องถิ่นและเมืองที่ประสบความยากลำบาก
2) กลุ่ม OPEC+ ร่วมมือลดกำลังการผลิต
หลังจากการประชุมเมื่อเดือน มี.ค. ประสบความล้มเหลวและส่งผลให้ราคาน้ำมันตกต่ำ แต่ในที่สุดกลุ่ม OPEC และรัสเซียได้เห็นชอบข้อตกลงลดกำลังการผลิต 10 ล้านบาร์เรล/วัน ไปจนถึงเดือน ก.ค. ซึ่งซาอุดิอาระเบียเรียกประชุมกลุ่มเป็นวาระฉุกเฉินในสัปดาห์นี้ และจะปรับเป็น 8 ล้านบาร์เรล/วัน หลังจากเดือน ก.ค. ไปจนถึงสิ้นปี 63 ส่วนในปี 64 คาดว่าจะลดกำลังการผลิตลงเพียง 6 ล้านบาร์เรล/วัน
3) อังกฤษขยายเวลา Lockdown
ปัจจุบันจำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัส COVID-19 ในอังกฤษยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้ง การที่ นรม.ต้องเข้ารับการรักษาอาการติดเชื้อ ทำให้รัฐบาลอังกฤษตัดสินใจขยายเวลา Lockdown ออกไปอย่างไม่มีกำหนด
ประเด็นที่ต้องติดตามในสัปดาห์หน้า :
1) ตัวเลขดัชนีค้าปลีกสหรัฐฯ
มาตรการ Lockdown หลายพื้นที่ในสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อภาคค้าปลีก เนื่องจากประชาชนไม่สามารถออกมาจับจ่ายใช้สอยตามปกติ และทำให้นักลงทุนติดตามรายงานดัชนีค้าปลีกในสัปดาห์หน้า เพราะเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญต่อการพยากรณ์ GDP ต่อไป
2) ตัวเลขอัตราว่างงานของออสเตรเลีย
ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) จะรายงานตัวเลขการว่างงานในการประชุมประจำเดือน เม.ย. ซึ่งจะจัดขึ้นสัปดาห์หน้า โดยมีคาดการณ์ในเบื้องต้นว่าตัวเลขการว่างงานจะเพิ่มขึ้น
3) การประชุมของธนาคารกลางแคนาดา
ธนาคารกลางแคนาดา (BOC) จะจัดประชุมในสัปดาห์หน้า ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า BOC อาจจะใช้อัตราดอกเบี้ยเดิม เพราะสถานการณ์ไวรัสในแคนาดายังทรงตัว
4) ตัวเลข GDP ของจีน
แม้ดัชนีภาคการผลิตของจีนจะฟื้นตัวขึ้นในเดือนที่แล้ว แต่ในภาพรวมก็ยังคงมีความเสียหายอย่างหนักจากสถานการณ์ไวรัส ซึ่งทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว หดตัวถึง 6% ต่ำสุดในรอบ 30 ปี
5) แนวโน้มการขยายมาตรการ Lockdown ในยุโรป
หากในสัปดาห์หน้ากลุ่มประเทศในยุโรปยังขยายเวลา Lockdown ต่อไป ก็อาจทำให้ธนาคารกลางต้องออกมาตรการเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติม เพื่อชดเชยกิจกรรมในระบบเศรษฐกิจที่ซบเซาลง