12 มี.ค.63
วันนี้ตลาดหุ้นทั้งเอเชียและยุโรปไปเคลื่อนไหวอยู่ในแดนลบ หลังจาก ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศห้ามเดินทางระหว่างยุโรปและสหรัฐฯ นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก—WHO ได้ยกระดับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เข้าสู่ภาวะ Pandemic (การระบาดระดับโลก) ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคการบริโภค และทำให้การเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลังจากนี้มีความเป็นไปได้มากขึ้น
ทั้งนี้ นางคริสทีน ลาการ์ด (Christine Lagarde) ประธานธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป—ECB ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ว่า หาก ECB ยังไม่ดำเนินการใดๆ ให้ทันต่อเวลา ยุโรปก็อาจต้องเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจเหมือนในปี ค.ศ.2008 ดังนั้น จึงมีการคาดการณ์ออกมาว่า ECB จะประกาศใช้มาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจในวันนี้ โดยเฉพาะการลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก
อย่างไรก็ตาม ECB ตระหนักดีว่าการแทรกแซงสามารถทำได้เพียงในขอบเขตจำกัด เพราะจะต้องออกมาตรการอื่นมาชดเชยผลกระทบที่จะตามมาอีกหลายประการ โดยขณะนี้มีการปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากลงจนเหลือ -0.6% เพื่อปกป้องภาคการส่งออกของยุโรปจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการอ่อนค่าของเงินยูโรต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ
นอกจากนี้ ECB ยังเพิ่มการอุดหนุนโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ TLTRO (Targeted Longer-Term Refinancing Operations) ให้ธนาคารพาณิชย์นำไปปล่อยสินเชื่อแก่ธุรกิจ SMEs อีกทั้งอาจยกเว้นให้ธนาคารพาณิชย์ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสำหรับเงินสดสำรองส่วนเกิน เพื่อลดภาระในการรักษาส่วนต่างกำไรของกิจการ
ส่วนประเด็นเรื่องมาตรการ QE นั้น มีความเป็นไปได้น้อย เพราะบอร์ดบริหาร ECB มีความเห็นไม่ลงรอยกันมาตั้งแต่สมัยที่นายมาริโอ ดรากี (Mari Draghi) ยังดำรงตำแหน่งประธาน อย่างไรก็ดี เป็นที่แน่นอนว่าจะต้องมีมาตรการช่วยเหลืออิตาลี เช่น การเพิ่มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล เพื่อให้อิตาลีสามารถกู้เงินโดยไม่กระทบต่อสถานภาพทางการคลัง
สรุปโดยภาพรวม คือ เงินยูโรจะยังมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อไป เพราะผลจากมาตรการปกป้องทางเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อรับมือกับไวรัสที่แพร่ระบาดรุนแรงยิ่งขึ้นในยุโรป