วันนี้ดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง แม้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาจะได้รับปัจจัยบวกจากสถิติค่าจ้างแรงงานนอกภาคเกษตร (NFP) เดือน ต.ค.64 ที่ออกมาสูงกว่าเป้าหมาย รวมทั้งการแถลงยืนยันนโยบายลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของ Fed อันเนื่องจากเหตุผลดังต่อไปนี้
1) การประกาศลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน
เป็นกระแสที่มีมานานและเป็นไปตามความคาดหมายของตลาดอยู่แล้ว จึงไม่มีอิทธิพลมากนักหลังจาก Fed ออกมาแถลงยืนยันอย่างเป็นทางการ โดยการลดวงเงินอุดหนุนเศรษฐกิจลง 15,000 ล้านดอลลาร์/เดือน ก็เป็นไปตามที่มีคาดการณ์ว่า Fed จะทยอยดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนกว่าจะถึงกลางปี 65 ประกอบกับนายเจโรม เพาเวล (Jerome Powell) ผู้ว่าการ Fed ปฏิเสธประเด็นขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลังสิ้นสุดมาตรการดังกล่าว และยืนยันว่า Fed ยังมีเวลาเพียงพอที่จะรอประเมินสถานการณ์ในระยะต่อไป
2) ความเห็นของ Fed ต่อประเด็นเงินเฟ้อ
ตามที่นายเพาเวลให้ความเห็นว่าการขยายตัวของเงินเฟ้อในหลายเดือนที่ผ่านมา แม้จะสูงกว่าระดับคาดการณ์แต่จะไม่คงอยู่ตลอดไป เพราะการขาดสภาพคล่องในด้านอุปทานจะคลี่คลายในที่สุด และมีความเป็นไปได้น้อยที่ภาวะเงินเฟ้อจากการขยายตัวของค่าจ้างแรงงาน (wage-price induced inflation) จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง
3) การจ้างงานยังอยู่ในระดับต่ำ
นายเพาเวลเห็นว่าสหรัฐฯ ยังอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงาน ซึ่งจะค่อยคลี่คลายลงได้เมื่อภาคอุปทานฟื้นตัวกลับมา และเมื่อถึงเวลาดังกล่าวแล้ว Fed จึงจะพิจารณาเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จึงหมายความว่าการตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อเพียงประเด็นเดียว นอกจากนี้ สถิติการขยายตัวของการจ้างงานในเดือน ต.ค. ก็ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ ส่วนค่าจ้างแรงงานรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยมีการขยายตัวที่ลดลง
Technical Views :
ในหลายเดือนที่ผ่านมา ดัชนีดอลลารสหรัฐฯ (DXY) เคลื่อนไหวอยู่ในช่วง bullish channel แต่ล่าสุดเกิดสัญญาณเปลี่ยนแนวโน้ม และมีโอกาสที่จะเกิด downside reversal ได้หากมีการอ่อนค่าลงต่ำกว่าบริเวณ 93.71 ซึ่งจะทำให้เกิดแนวรับถัดไปอยู่ที่บริเวณ 93.02 (สำหรับแนวต้านปัจจุบันอยู่ที่บริเวณ 94.30)
อนึ่ง ในสัปดาห์นี้มีข่าวสารที่ตลาดให้ความสนใจคือตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI Index) ซึ่งจะมีการรายงานในวันพุธ (10 พ.ย.64)
ติดตาม Blog Tickmill Thailand ได้ที่ https://www.tickmill.com/th/blog/