13 พ.ค.64
เกิดการเทขายอย่างหนักในตลาดหุ้นญี่ปุ่น จนส่งผลให้ดัชนี Nikkei ปรับตัวลงมากกว่า 9% ซึ่งเป็นผลกระทบจากข่าวสารเรื่องอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ออกมาสูงกว่าระดับคาดการณ์ จนทำให้เกิดความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะยกเลิกการผ่อนคลายนโยบายการเงินเร็วกว่าที่กำหนดในปีนี้
แม้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยืนยันว่ายังเตรียมพร้อมซื้อกองทุนรวมดัชนี (ETFs) เพื่อบรรเทาผลกระทบในตลาดหุ้น แต่ก็ไม่ได้ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนกลับมาดีขึ้น เนื่องจาก BOJ ไม่ระบุว่าจะดำเนินการเมื่อไร โดยนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ ชี้แจงว่าเป็นเพราะ BOJ ไม่ได้มีกฎเกณฑ์อัตโนมัติที่กำหนดไว้ตายตัวว่าจะต้องซื้อ ETFs เมื่อดัชนีตลาดหุ้นตกลงมาเท่าไร แต่ยืนยันว่าจะยังคงใช้นโยบายเดิมคือพร้อมซื้อ ETFs ทุกเมื่อหากมีความจำเป็น
นอกจากนี้ BOJ จะไม่จำกัดเพดานโควตาซื้อ ETFs แบบที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ถูกมองว่าเพื่อให้เกิดความคล่องตัวเมื่อจะต้องปรับลดระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงินในโอกาสต่อไป รวมถึงเพื่อลดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่ามาตรการดังกล่าวเป็นการบิดเบือนตลาด แต่ปัจจุบัน (เดือน พ.ค.64) ยังไม่ปรากฏว่า BOJ ได้เข้าซื้อ ETFs แล้วแต่อย่างใด จึงทำให้เป็นที่สนใจติดตามว่าจะเริ่มดำเนินการเมื่อดัชนี Nikkei ดิ่งลงมาถึงจุดต่ำสุดของปี 64 หรือไม่
ทั้งนี้ ผู้ว่าการ BOJ แสดงความเห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่าก่อนช่วงวิกฤตโรคระบาด เพราะญี่ปุ่นยังไม่ผ่านพ้นการแพร่ระบาดระลอกล่าสุด และยังอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินระดับ 3 แต่ BOJ จะพิจารณาถึงต้นทุนและผลกระทบของการดำเนินนโยบายในอนาคต เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อในระดับที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการขยายตัวของผลประกอบการ การจ้างงาน และค่าจ้างแรงงาน
ติดตาม Blog Tickmill Thailand ได้ที่ https://www.tickmill.com/th/blog/